Website วิชาการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

อิสระพงศ์ รัตนะ

วันที่เผยแพร่ 14 ก.พ. 2566

บทคัดย่อ

บทนำ
       โรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติ คือการให้แฟคเตอร์ทดแทน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้
วัตถุประสงค์
       เพื่อศึกษาผลของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียและค่าใช้จ่ายโดยการใช้แฟคเตอร์ในการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
วิธีการศึกษา
       การศึกษาแบบย้อนหลัง ในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียที่ได้ลงทะเบียนเข้าโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในระบบหลักประสุขภาพถ้วนหน้าที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช อายุ 15 ปีขึ้นไป ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564
ผลการศึกษา
       มีผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจำนวน 29 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด อายุเฉลี่ย 26.2±9.6 ปี เป็นโรคฮีโมฟีเลีย เอ 23 ราย (ร้อยละ 79.3) และโรคฮีโมฟีเลีย บี 6 ราย (ร้อยละ 20.7) ส่วนใหญ่มีระดับความรุนแรงของโรคเป็นชนิดรุนแรงมาก (ร้อยละ 58.6) ส่วนใหญ่พบเลือดออกในข้อเข่ามากที่สุด (ร้อยละ 31) การใช้แฟคเตอร์ส่วนใหญ่เป็นแบบใช้เมื่อมีเลือดออก (ร้อยละ 75.9) ส่วนใหญ่มีสารต้านแฟคเตอร์อยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 41.4) การใช้แฟคเตอร์ VIII ของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ ชนิดรุนแรงมาก ชนิดรุนแรงปานกลาง และชนิดรุนแรงน้อย ที่มาติดตามอาการตามนัด ในรอบ 1 ปี คิดเป็นเงินเฉลี่ย 151,320, 113,598 และ 164,130 บาท/คน/ปี ตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย บี ชนิดรุนแรงมากและรุนแรงปานกลาง ใช้แฟคเตอร์ IX ที่มาติดตามอาการตามนัด ในรอบ 1 ปี คิดเป็นเงินเฉลี่ย 273,714 และ 217,227 บาท/คน/ปี ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกินงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสปสช. หากผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ และฮีโมฟีเลีย บี ชนิดรุนแรงมาก ได้รับการรักษาด้วยการให้แฟคเตอร์แบบป้องกัน พบว่าต้องใช้งบประมาณถึง 608,088 และ 610,584 บาท/คน/ปี ตามลำดับ ซึ่งเกินกว่างบประมาณที่สปสช.สนับสนุนในการใช้แฟคเตอร์ตามรอบ คือ 345,600 และ 302,400 บาท/คน/ปี ตามลำดับ
สรุป
       ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย เอ สัดส่วนโรคฮีโมฟีเลีย เอ ต่อโรคฮีโมฟีเลีย บี เป็น 3.8:1 โดยส่วนใหญ่มีระดับความรุนแรงของโรค เป็นชนิดรุนแรงมาก (ร้อยละ 58.6) พบเลือดออกในข้อเข่ามากที่สุด (ร้อยละ 31) ส่วนใหญ่เป็นการใช้แฟคเตอร์เมื่อมีเลือดออก ค่าใช้จ่ายในการใช้แฟคเตอร์แบบเมื่อมีเลือดออกต่อปีส่วนใหญ่เพียงพอกับงบประมาณที่ได้จากสปสช.แต่ไม่เพียงพอหากใช้แบบป้องกัน
คำสำคัญ
       แฟคเตอร์ VIII แฟคเตอร์ IX ฮีโมฟีเลีย บี ฮีโมฟีเลีย เอ

PDF (ภาษาไทย)