Website วิชาการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
การมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ตำบลท่าซัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

สมปอง กรุณา

วันที่เผยแพร่ 13 ก.พ. 2566

บทคัดย่อ

บทนำ
       ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2560 มีปริมาณขยะมูลฝอย 27.37 ล้านตัน ปี 2561 จำนวน 27.93 ล้านตัน และปี 2562 จำนวน 28.71 ล้านตัน จากการทำประชาคมตำบลท่าซัก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ชุมชนให้ความสำคัญต้องการให้ดำเนินการแก้ไข โดยในปัจจุบันตำบลท่าซักมีปริมาณขยะมูลฝอยโดยเฉลี่ย จำนวน 7 ตันต่อวัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดเฉลี่ย 58,000 บาทต่อเดือน และเป็นพื้นที่ติดทะเลมีลำคลองที่จะนำขยะลงสู่ทะเลจึงมีความจำเป็นในการดำเนินการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อนำไปสู่การจัดการขยะมูลฝอยที่มีคุณภาพและยั่งยืน
วัตถุประสงค์
       1. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ตำบลท่าซัก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 2. เพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและติดตามการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ตำบลท่าซัก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
วิธีการศึกษา
       เป็นการศึกษาวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed research) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณแบบภาคตัดขวาง (Cross sectional research) โดยใช้แบบสอบถาม และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงาน และติดตามการดำเนินงาน
ผลการศึกษา
       กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 370 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 66.5) มีอายุระหว่าง 51-60 ปี (ร้อยละ 24.1) สถานะสมรสคู่ (ร้อยละ 60.8) การศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 52.4) ประกอบอาชีพแม่บ้าน (ร้อยละ 26.2) รายได้ระหว่าง 5,000 – 10,000 บาท (ร้อยละ 36.5) คัดแยกขยะก่อนทิ้ง (ร้อยละ78.6) คะแนนความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยอยู่ในระดับปานกลาง คะแนนทัศนคติเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยโดยรวมอยู่ในระดับสูง คะแนนพฤติกรรมในการจัดการขยะมูลฝอยโดยรวมอยู่ในระดับสูง การประชุมเชิงปฏิบัติการของแกนนำกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 คน โดยนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมากำหนดแผนการดำเนินงานในการจัดการขยะโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อความถูกต้อง ต่อเนื่อง และยั่งยืนในการจัดการขยะมูลฝอย
สรุป
       ประชาชนตำบลท่าซัก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีระดับคะแนนความรู้ในการจัดการขยะมูลฝอยอยู่ในระดับปานกลาง ระดับคะแนนทัศนคติโดยรวมอยู่ในระดับสูง ระดับคะแนนพฤติกรรมในการจัดการขยะมูลฝอยของกลุ่มตัวอย่างโดยรวมอยู่ในระดับสูง ข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อยกระดับความรู้และสร้างความตระหนักในการจัดการขยะมูลฝอย โดยการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน กลุ่มเยาวชนในโรงเรียน จัดทำข้อตกลง และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการทั้งนี้เพื่อความถูกต้องต่อเนื่อง และยั่งยืนในการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน
คำสำคัญ
       การมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดการขยะมูลฝอย

PDF (ภาษาไทย)