บทนำ |
โรคต้อหินเป็นสาเหตุอันดับสองของการตาบอดที่ไม่สามารถรักษาได้ทั่วโลก ซึ่งการวินิจฉัยและการรักษาโรคต้อหินนั้น ค่าความดันลูกตาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยการวัดความดันลูกตาแบบมาตรฐานคือ การวัดด้วยเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมน แต่การวัดด้วยวิธีนี้มีข้อเสียหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถวัดในคนไข้เด็กที่ไม่ร่วมมือได้ คนไข้แพ้ยาชา ใช้เวลาในการตรวจมากขึ้น จึงมีการวิธีการวัดชนิดที่ไม่ต้องสัมผัสกับกระจกตาคนไข้คือเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดเป่าลม ซึ่งสามารถแก้ไขข้อเสียเหล่านี้ได้ แต่ว่าจะมีความแม่นยำน้อยกว่า |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าความดันลูกตาที่วัดได้จากเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมนน์และเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดเป่าลม |
วิธีการศึกษา |
เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง โดยเก็บข้อมูลความดันลูกตาที่วัดด้วยเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมนน์และเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดเป่าลม จากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของคนไข้ 100 คน |
ผลการศึกษา |
ค่าความดันลูกตาเฉลี่ยที่วัดด้วยเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมนน์และเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดเป่าลมมีความแตกต่างกัน โดยที่ค่าความดันลูกตาเฉลี่ยของกลุ่มที่มีความดันลูกตาน้อยกว่า 21 มิลลิเมตรปรอทที่วัดด้วยเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมนน์และเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดเป่าลม คือ 14.70 ± 3.24 มิลลิเมตรปรอท และ 13.52 ± 3.64 มิลลิเมตรปรอท ตามลำดับ (mean difference คือ 1.18 ± 3.33 มิลลิเมตรปรอท (p-value < 0.001)) และค่าความดันลูกตาเฉลี่ยของกลุ่มที่มีความดันลูกตามากกว่าหรือเท่ากับ 21 มิลลิเมตรปรอท คือ 21.48 ± 7.88 มิลลิเมตรปรอท และ 19.04 ± 8.10 มิลลิเมตรปรอท ตามลำดับ (mean difference คือ 2.44 ± 6.52 มิลลิเมตรปรอท (p-value = 0.001)) |
สรุป |
ค่าความดันลูกตาเฉลี่ยที่วัดด้วยเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมนน์มีค่าสูงกว่าค่าความดันลูกตาเฉลี่ยที่วัดด้วยเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดเป่าลมในคนไข้โรคต้อหินทั้งสองกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นผู้ตรวจควรจะพิจารณาวัดด้วยเครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมนน์เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการรักษาคนไข้ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น |
คำสำคัญ |
โรคต้อหิน เครื่องวัดความดันลูกตาชนิดโกลด์แมนน์ เครื่องวัดความดันลูกตาชนิดเป่าลม |