บทนำ |
พิษต่อตับจากยาต้านวัณโรคเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้การรักษาวัณโรคต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้ความสำเร็จในการรักษาวัณโรคลดลงและยังเพิ่มอัตราตายในผู้ป่วยวัณโรค |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดพิษต่อตับจากยาต้านวัณโรค และผลกระทบต่อผู้ป่วย ที่เกิดภาวะพิษต่อตับจากยาต้านวัณโรค |
วิธีการศึกษา |
การศึกษาเป็นแบบพรรณนาย้อนหลัง ศึกษาผู้ป่วยทุกรายที่ขึ้นทะเบียนรับยาต้านวัณโรค ในคลินิกวัณโรค โรงพยาบาลทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2563 |
ผลการศึกษา |
มีผู้ป่วยจำนวน 272 จาก 336 ราย (ร้อยละ 80.9) มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ โดยพบ 26 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 9.6 เกิดพิษต่อตับจากยาต้านวัณโรค โดยพบว่าผู้ป่วยดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตสูงร้อยละ 30.8 (p-value<0.001) การวิเคราะห์แบบ univariate analysis พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดพิษต่อตับจากยาต้านวัณโรคที่มีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เพศหญิง น้ำหนักตัวน้อย ระดับอัลบูมินต่ำ ความดันโลหิตสูงและ ไตวายเรื้อรัง และเมื่อวิเคราะห์แบบ multivariate analysis พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดพิษต่อตับจากยาต้านวัณโรคที่ยังคงมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ระดับอัลบูมินต่ำ (aOR, 0.37; 95%CI, 0.18-0.77, [p-value=0.007]) และไตวายเรื้อรัง (aOR, 6.31; 95%CI, 1.47-27.13, [p-value=0.013]) |
สรุป |
อัตราการเกิดพิษต่อตับจากยาต้านวัณโรคร้อยละ 9.6 โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตสูง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะพิษต่อตับ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีระดับอัลบูมินต่ำและไตวายเรื้อรัง ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ควรพิจารณาประเมินค่าการทำงานของตับและไตก่อนเริ่มยาต้านวัณโรคในผู้ป่วยทุกราย รวมทั้งควรมีการติดตามอาการแสดงของภาวะพิษต่อตับและค่าการทำงานของตับเป็นระยะ ๆ ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดความรุนแรงของภาวะพิษต่อตับและลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยวัณโรคต่อไป |
คำสำคัญ |
พิษต่อตับ ยาต้านวัณโรค วัณโรค |