บทนำ |
มลพิษจากมูลฝอยเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุกคน พฤติกรรมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดปัญหามลพิษจากมูลฝอยได้ พฤติกรรมการจัดการมูลฝอยที่ถูกต้องเป็นผลมาจากความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการจัดการมูลฝอย โรงพยาบาลนอกจากเป็นแหล่งผลิตมูลฝอยทั่วไปแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตมูลฝอยอันตรายและมูลฝอยติดเชื้ออีกด้วย การกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษา เปรียบเทียบ ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช |
วิธีการศึกษา |
เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง (Cross sectional study) ด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคลากรของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช |
ผลการศึกษา |
กลุ่มตัวอย่างจำนวน 349 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 82.2 ) อายุ 51 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 55.0 ) การศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 64.8) เป็นพยาบาลวิชาชีพ (ร้อยละ 38.1 ) คะแนนความรู้เกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยอยู่ในระดับมาก 346 ราย (ร้อยละ 99.1) คะแนนทัศนคติอยู่ในระดับดีและดีมาก 152 ราย (ร้อยละ 43.6) และ 197 ราย (ร้อยละ 56.4) ตามลำดับ คะแนนพฤติกรรมอยู่ในระดับดีมาก 299 ราย (ร้อยละ 85.7) บุคลากรที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี เพศหญิง และในกลุ่มอายุที่สูงขึ้นมีคะแนนพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้คะแนนความรู้และทัศนคติที่มากขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับคะแนนพฤติกรรมที่มากขึ้นตามไปด้วย |
สรุป |
คะแนนความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชอยู่ในระดับดีถึงดีมาก โดยคะแนนพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบในกลุ่มบุคลากรที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี เพศหญิง และบุคลากรกลุ่มอายุที่สูงขึ้น และนอกจากนี้คะแนนความรู้และทัศนคติที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับคะแนนพฤติกรรมที่มากขึ้น |
คำสำคัญ |
ความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมเกี่ยวกับการจัดการมูลฝอย |