Website วิชาการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
ผลของการเพิ่มยานำสำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะภูมิไวเกินจากยาออกซาลิพลาตินในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

ศุภวรรณ สุวรรณอักษร, สุจิตรา ยิ่งยงค์

วันที่เผยแพร่ 2 ก.พ. 2565

บทคัดย่อ

บทนำ
       จากการติดตามเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร FOLFOX4 ปีงบประมาณ 2562 พบผู้ป่วยเกิดภาวะภูมิไวเกินจากยาออกซาลิพลาติน จำนวน 24 ราย ในจำนวนการให้ยาทั้งหมด 105 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.86 ในปี 2563 ได้ปรับเพิ่มยานำในชุดคำสั่งใช้ ยาสูตร FOLFOX4 สำหรับใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะภูมิไวเกินจากยาออกซาลิพลาติน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะภูมิไวเกินซ้ำจากยาออกซาลิพลาติน
วัตถุประสงค์
       เพื่อศึกษาผลในการป้องกันการเกิดภาวะภูมิไวเกินซ้ำจากยาออกซาลิพลาตินจากการเพิ่มยานำสำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะภูมิไวเกินจากยาออกซาลิพลาตินในสูตร FOLFOX4
วิธีการศึกษา
       การศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลัง โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตร FOLFOX4 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โดยนำข้อมูลในช่วงก่อนให้ยานำและหลังให้ยานำมาเปรียบเทียบกัน
ผลการศึกษา
       ผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะภูมิไวเกินจากยา Oxaliplatin และได้รับการให้ยาสูตร FOLFOX4 ซ้ำจำนวน 42 ราย แบ่งเป็นช่วงที่ 1 ก่อนให้ยานำจำนวน 20 ราย และกลุ่มหลังเพิ่มยานำ 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 60 และ 59.1 ตามลำดับ อายุเฉลี่ย 56.85+10 .00 และ 56.14+9.09 ปีตามลำดับ ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ร้อยละ 30 และ 22.73 ตามลำดับ ส่วนใหญ่ทั้งสองช่วงพบการเกิดภาวะภูมิไว เกินครั้งแรกในรอบของการให้ยาที่ 6-10 (ร้อยละ 60 และ 50 ตามลำดับ) พบว่าการแพ้ยาใน grade II และ III ในช่วงที่ 2 มีการลดลงกว่าช่วงที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.001 และ 0.006 ตามลำดับ) และพบว่าค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งในการเกิดภาวะภูมิไวเกินของช่วงที่สองน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.048)
สรุป
        การเพิ่มยานำจากสูตรเดิมด้วย Chlorpheniramine, Ranitidine และเพิ่มขนาด ยาของ Dexamethasone ช่วยลดจำนวนครั้งและความรุนแรงของการเกิดภาวะภูมิไวเกินซ้ำจากยาออกซาลิพลาติน
คำสำคัญ
       ภาวะภูมิไวเกิน ออกซาลิพลาติน ยานำ

PDF (ภาษาไทย)