บทนำ |
การสร้างภาพทางการแพทย์พัฒนาสู่ระบบดิจิทัลเพิ่มความสะดวกในการวินิจฉัย แต่ยังพบปัญหาการถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอกซ้ำ ซึ่งส่งผลต่อการได้รับรังสีเกินจำเป็นและค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ จากสถิติปี 2566 พบอัตราการถ่ายซ้ำร้อยละ 5.54 สาเหตุหลักจากการจัดท่าไม่เหมาะสม สิ่งทึบรังสีแปลกปลอม และการหายใจเข้าไม่เต็มที่ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการถ่ายภาพรังสีทรวงอกซ้ำ และพัฒนาแนวทางการลดอัตราการถ่ายภาพซ้ำ |
วิธีการศึกษา |
การศึกษาแบบบรรยายย้อนหลัง ดำเนินการศึกษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เก็บข้อมูลจากระบบ PACS ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงธันวาคม พ.ศ. 2567 |
ผลการศึกษา |
แบบจำลองการถดถอยสามารถอธิบายความแปรปรวนได้เพียงร้อยละ 3.9 เพศเป็นปัจจัยเดียวที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอกซ้ำ โดยเพศหญิงมีแนวโน้มถ่ายภาพเอกซเรย์ซ้ำมากกว่าเพศชาย หลังการพัฒนาแนวทางปฏิบัติอัตราการถ่ายภาพเอกซเรย์ซ้ำลดลงจากร้อยละ 7.50 เหลือร้อยละ 4.99 สาเหตุหลักจากการจัดท่าลดลงจากร้อยละ 69.91 เป็นร้อยละ 57.54 สาเหตุจากสิ่งทึบรังสีแปลกปลอม ลดลงจากร้อยละ 21.25 เป็นร้อยละ 19.55 สาเหตุการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และพบสาเหตุจากการหายใจไม่เต็มที่ร้อยละ 10.06 |
สรุป |
การพัฒนาแนวทางในการศึกษาครั้งนี้สามารถลดอัตราการถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอกซ้ำได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ |
คำสำคัญ |
การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอกซ้ำ ระบบดิจิทัล การพัฒนาคุณภาพ |