บทนำ |
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุอันดับสองของการเสียชีวิตและความพิการในผู้ใหญ่ทั่วโลก และยังคงเป็นปัญหาสำคัญ หลังจากพ้นระยะวิกฤตยังคงมีความพิการหลงเหลือ มีปัญหาสุขภาพด้านร่างกาย จิตใจ การรับรู้ การสื่อสาร มักมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันควรได้รับการฟื้นสภาพในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อให้ฟื้นสภาพและมีโอกาสกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงการรักษาฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะกลาง โรงพยาบาลทุ่งสง |
วิธีการศึกษา |
เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง โดยการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยในของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้านอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 ถึง วันที่ 30 ก.ย.2565 |
ผลการศึกษา |
กลุ่มตัวอย่าง 256 คน เพศชายร้อยละ 64.10 อายุเฉลี่ย 69.28±10.91 ปี ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ประถมศึกษา ร้อยละ 41.80 อยู่ในเขตอำเภอทุ่งสง ร้อยละ 64.50 วินิจฉัยเป็น Cerebral Ischemia ร้อยละ 77.70 โรคร่วมที่พบมากที่สุด คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง (HT DM DLP) คิดเป็นร้อยละ 21.1 จำนวนวันนอนเฉลี่ย 5.53±2.60 วัน สิทธิการรักษาบัตรประกันสุขภาพ ร้อยละ 49.60 สถานะการจำหน่ายโดยแพทย์อนุญาต ร้อยละ 84.50 ส่วนใหญ่ระดับความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันช่วยเหลือตัวเองได้ ร้อยละ 80.10 และจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4 คน ร้อยละ 28.50 โดยมีตัวแปรที่มีความสัมพันธ์ ได้แก่ เพศ (p= 0.03) อายุ (p=<0.001) ที่อยู่ (p=0.02) การวินิจฉัย (p=0.03) จำนวนวันนอน (p=0.04) สิทธิการรักษา (p=<.001) สถานการณ์จำหน่าย (p=0.04) ระดับความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (p=0.04)และจำนวนสมาชิกในครอบครัว (p=0.03) |
สรุป |
ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการได้รับการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะกลาง โรงพยาบาลทุ่งสง ได้แก่ เพศชาย กลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่อยู่ในเขตอำเภอทุ่งสง การวินิจฉัย Cerebral Ischemia จำนวนวันนอนน้อยกว่า 6 วัน สิทธิการรักษาบัตรประกันสุขภาพ สถานะการจำหน่ายแพทย์อนุญาต ระดับความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันก่อนจำหน่ายช่วยเหลือตัวเองได้และจำนวนสมาชิกในครอบครัวน้อยกว่า 4 คน |
คำสำคัญ |
การเข้าถึงการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยระยะกลาง |