Website วิชาการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
ผลของโปรแกรมการให้ความรู้และฝึกทักษะแก่ผู้ดูแลเพื่อเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในการดูแลที่บ้านเขต อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

เพ็ญพิมล เปียงแก้ว

วันที่เผยแพร่ 1 ก.ย. 2566

บทคัดย่อ

บทนำ
       บทนำ : โรคหลอดเลือดสมองมีความรุนแรงสูง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีความพิการ ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งถ้าผู้ดูแลไม่มีความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยอาจเป็นซ้ำ เสียชีวิตหรือมีความพิการรุนแรงมากขึ้น ที่ผ่านมาเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน พบว่าผู้ดูแลไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ไม่มีความมั่นใจในการทำกายภาพ การช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน บางครั้งมีการเปลี่ยนผู้ดูแลเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะในการดูแล หรือผู้ดูแลเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
วัตถุประสงค์
       วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของผู้ดูแล และ เปรียบเทียบความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก่อนและหลังการได้รับโปรแกรม
วิธีการศึกษา
       วัสดุและวิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบ 1 กลุ่มวัดก่อน หลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการรักษาและจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชในเดือน ตุลาคม 2563 ถึง มีนาคม 2564 ที่มีระดับ ADL 5-11 คะแนน และผู้ดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนกลุ่มละ 15 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง กลุ่มตัวอย่างได้รับโปรแกรมจำนวน 4 เดือน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบประเมินความรู้ ทักษะการดูแล คะแนนการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ wilcoxon signed Rank test
ผลการศึกษา
       ผลการศึกษา : ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองและทักษะการดูแลหลังได้รับโปรแกรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (z = 3.421; p < .001 ,z = 3.413; p < .001 ตามลำดับ) และคะแนน ADL ของผู้ป่วยมีคะแนนหลังได้รับโปรแกรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (z = 3.419; p < .001)
สรุป
       สรุป : โปรแกรมการให้ความรู้และการฝึกทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ดูแลและทีมสุขภาพ สามารถใช้เป็นแนวทางในการดูแลที่บ้านในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิได้
คำสำคัญ
       คำสำคัญ : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ดูแล โปรแกรมการให้ความรู้และฝึกทักษะแก่ผู้ดูแล

PDF (ภาษาไทย)