บทนำ |
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ สำหรับเครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช มีทั้งหมด 23 แห่ง การให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการ อันเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพการให้บริการ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาความพึงพอใจของผู้รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนพัฒนาการบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพต่อไป |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช |
วิธีการศึกษา |
เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ทั้ง 23 แห่ง |
ผลการศึกษา |
กลุ่มตัวอย่างจำนวน 319 คน เป็นเพศหญิง ร้อยละ 78.70 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 39.80 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่าร้อยละ 59.20 ประกอบอาชีพงานบ้าน และเกษตรกรหรือทำประมง ร้อยละ 27.00 และร้อยละ 25.70 ตามลำดับ เป็นสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 90.60 ระดับคะแนนความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (4.20 จากคะแนนเต็ม 5) และมีความพึงพอใจรายด้านทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับมากเช่นกัน ดังนี้ ด้านกระบวนการ/ขั้นตอนการให้บริการ ด้านบุคลากรที่ให้บริการ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และด้านคุณภาพของการให้บริการ โดยมีคะแนนเป็น 4.10, 4.29, 4.17, และ 4.19 จากคะแนนเต็ม 5 ตามลำดับ |
สรุป |
คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยในภาพรวมของผู้รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ทั้ง 23 แห่ง อยู่ในระดับมาก โดยในแต่ละด้าน คือ ด้านกระบวนการ/ขั้นตอนการให้บริการ ด้านบุคลากรที่ให้บริการ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และด้านคุณภาพของการให้บริการ มีคะแนนอยู่ในระดับมากทั้งหมด ซึ่งควรมีการพัฒนาในแต่ละด้านให้มีระดับคะแนนเพิ่มขึ้นให้เป็นระดับมากที่สุดต่อไป |
คำสำคัญ |
การให้บริการ ความพึงพอใจ ผู้รับบริการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล |