บทนำ |
สุขภาพเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพฤติกรรมสุขภาพนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาพฤติกรรมสุขภาพและภาวะสุขภาพของเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานโภชนศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อหาแนวทางป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ |
วิธีการศึกษา |
การวิจัยเชิงพรรณนา โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ภาวะสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพและภาวะสุขภาพจิต และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา แจกแจงความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน |
ผลการศึกษา |
เจ้าหน้าที่จำนวน 60 ราย อายุเฉลี่ย 43±12 ปี (ระหว่าง 23 ถึง59 ปี) ประกอบด้วยเพศหญิงร้อยละ 88.3 มีโรคประจำตัวร้อยละ 38.3 ภาวะอ้วนลงพุง ร้อยละ 65.0 ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ร้อยละ 25.0 และ 46.6 ความดันโลหิตสูงและเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงร้อยละ 13.3 ไขมันชนิดคอเลสเตอรอล(cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride)ในเลือดสูงร้อยละ 75.7 และ 36.6 เบาหวาน ร้อยละ 12.5 และเสี่ยงต่อโรคเบาหวานร้อยละ 15 มีระดับคะแนนพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับปานกลางและระดับสูงร้อยละ 88.3 และ 3.3 มีระดับคะแนนพฤติกรรมด้านป้องกันสุขภาพในระดับสูงและปานกลางร้อยละ 35.0 และ 58.3 มีระดับคะแนนพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพในระดับสูงและปานกลางร้อยละ 26.7และ 58.3 และมีภาวะสุขภาพจิตเทียบเท่าบุคคลทั่วไปร้อยละ 66.7 |
สรุป |
เจ้าหน้าที่กลุ่มงานโภชนศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ที่เข้าร่วมงานวิจัย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 88.3) อายุเฉลี่ย 43 + 12 ปี มีโรคประจำตัวร้อยละ 38.3 ซึ่งทั้งหมดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยร้อยละ 75.7 ของบุคลากรมีภาวะไขมันชนิดคอเลสเตอรอลสูง ร้อยละ 71.6 มีภาวะน้ำหนักเกินจนถึงโรคอ้วน และร้อยละ 65 มีภาวะอ้วนลงพุง สำหรับคะแนนระดับพฤติกรรมสุขภาพของบุคลากรอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งในด้านพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ พฤติกรรมด้านการป้องกันสุขภาพ และพฤติกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ |
คำสำคัญ |
พฤติกรรมสุขภาพ ภาวะสุขภาพ |