บทนำ |
ความผูกพันต่อองค์กรเป็นมากกว่าการอุทิศตนในระดับปกติ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและต่อเนื่องที่กระตุ้นให้บุคลากร อุทิศตนเพื่อสร้างองค์กรที่เจริญรุ่งเรืองในทางกลับกัน การขาดความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานสามารถนำไปสู่อัตราการลาออกที่สูง ส่งผลให้สูญเสียต้นทุนที่สำคัญสำหรับองค์กรและเป็นปัจจัยทำให้การเติบโตและประสิทธิผลขององค์กรลดลงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสาธารณชน ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของบุคลากรเพื่อช่วยให้องค์กรพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคล |
วัตถุประสงค์ |
1. เพื่อศึกษาระดับความผูกพันต่อองค์กรของบุคลากรโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
2. เพื่อศึกษาปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล ปัจจัยด้านลักษณะงาน และปัจจัยด้านประสบการณ์ในงานที่ปฏิบัติ ที่มีผลกับความผูกพันต่อองค์กรของบุคลากรในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
|
วิธีการศึกษา |
เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ มีรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อวัดระดับความผูกพันต่อองค์กร โดยใช้แบบวัดความผูกพันต่อองค์กร (Organizational commitment questionnaire) และทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันต่อองค์กรด้วยการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) จำนวน 160 ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 5 มกราคม 2566 ถึง 31 มกราคม 2566 |
ผลการศึกษา |
ระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กรของกลุ่มตัวอย่างบุคลากร โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ในภาพรวมอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.82, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.64) เมื่อพิจารณาระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กรเป็นรายด้าน พบว่า ด้านความเต็มใจในการปฏิบัติงานเพื่อองค์กรมีระดับคะแนนสูงสุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.08, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.69) รองลงมาความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าและการยอมรับเป้าหมายและค่านิยมขององค์กร (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.71, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.73) และด้านความต้องการที่จะรักษาความเป็นสมาชิกในองค์กร (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.68, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.83) และพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร คือ ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่มี อายุ 41- 50 ปี มีสถานภาพสมรส มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร และระดับการศึกษา ระดับรายได้ต่อเดือน มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร ปัจจัยด้านลักษณะงานที่มีผลต่อระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร ได้แก่ ปัจจัยด้านความท้าทายของงาน และด้านความก้าวหน้าของงานมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร ส่วนปัจจัยด้านประสบการณ์ในงานที่ปฏิบัติที่มีผลต่อระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร ได้แก่ ปัจจัยด้านทัศนคติต่อเพื่อนร่วมงานและองค์กร ด้านความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญต่อองค์กร และด้านความรู้สึกว่าองค์กรเป็นที่พึ่งพาได้ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร |
สรุป |
ระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กรของกลุ่มตัวอย่างบุคลากรโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
อยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กรเป็นรายด้าน พบว่า ด้านความเต็มใจในการปฏิบัติงานเพื่อองค์กรมีระดับคะแนนสูงสุด รองลงมา คือ ด้านความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าและการยอมรับเป้าหมายและค่านิยมขององค์กร และด้านความต้องการที่จะรักษาความเป็นสมาชิกในองค์กร ตามลำดับ โดยพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร คือ ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่มี อายุ 41- 50 ปี มีสถานภาพสมรส มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่ยาวนาน ปัจจัยด้านลักษณะงาน ได้แก่ ปัจจัยด้านความท้าทายของงาน และด้านความก้าวหน้าของงาน ปัจจัยด้านประสบการณ์ในงานที่ปฏิบัติ ได้แก่ ปัจจัยด้านทัศนคติต่อเพื่อนร่วมงานและองค์กร ด้านความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญต่อองค์กร และด้านความรู้สึกว่าองค์กรเป็นที่พึ่งพาได้ ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับระดับคะแนนความผูกพันต่อองค์กร คือ ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ระดับการศึกษา และระดับรายได้ต่อเดือน
|
คำสำคัญ |
ความก้าวหน้าของงาน ความผูกพันต่อองค์กร ความรู้สึกว่าองค์กรเป็นที่พึ่งพาได้ |