บทนำ |
ผู้ป่วยที่มาด้วยการบาดเจ็บที่ศีรษะ พบมีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังส่วนคอ ร่วมด้วย ร้อยละ 4-8 การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและกระดูกสันหลังส่วนคอในคราวเดียวกันเพิ่มมากขึ้นการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็วนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของการบาดเจ็บกระดูกสันหลังส่วนคอ ลักษณะภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และความสัมพันธ์กับกลไกการบาดเจ็บ และระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ |
วิธีการศึกษา |
ศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา ในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะและได้รับการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ กระดูกสันหลังส่วนคอ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2564 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เป็นความถี่ ร้อยละ และหาความสัมพันธ์ ด้วยการวิเคราะห์ Chi-square test |
ผลการศึกษา |
จำนวนผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ 872 ราย พบอุบัติการณ์การบาดเจ็บกระดูกสันหลังส่วนคอ 103 ราย (ร้อยละ 11.8) อุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บ ร้อยละ 77.6 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย (mild head injury ) ร้อยละ 63.2 พบการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังส่วนคอระดับ C6-C7 มากที่สุด ร้อยละ 31.1-32.0 โดยเป็น Compression fracture type ที่ตำแหน่ง spinous process มากที่สุด และพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ กับกลไกการบาดเจ็บ และ ระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ |
สรุป |
ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะมีอุบัติการณ์ของการบาดเจ็บกระดูกสันหลังส่วนคอร้อยละ 11.8 การบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นชนิด compression fracture ที่ระดับ C6-C7 กลไกการบาดเจ็บ และระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ มีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บกระดูกสันหลังส่วนคออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ |
คำสำคัญ |
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์กระดูกสันหลังส่วนคอ การบาดเจ็บกระดูกสันหลังส่วนคอ |