Website วิชาการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
ผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจแบบออกกำลังกายที่บ้าน ต่อความสามารถในการออกกำลังกายและคุณภาพชีวิต หลังจากติดตามครบ 1 ปี ณ คลินิกฟื้นฟูหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

อัจฉรี แก้วทอง

วันที่เผยแพร่ 22 พ.ย. 2564

บทคัดย่อ

บทนำ
       การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจเป็นขบวนการในการดูแลผู้ป่วยหัวใจ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ ให้ กลับมาใช้ชีวิตในสังคมและประกอบอาชีพได้ตามเหมาะสม ผลจากการฟื้นฟูหัวใจ พบว่าอัตราการเสียชีวิต ลดลง ลดความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาล ภาวะเครียด กังวล และซึมเศร้าดีขึ้น
วัตถุประสงค์
       เพื่อศึกษาระดับความสามารถในการออกกำลังกายและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจ หลังจากเข้ารับบริการโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจแบบออกกำลังกายที่บ้านเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ณ คลินิกฟื้นฟูหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
วิธีการศึกษา
       เป็นการวิจัยเชิงพรรณาย้อนหลัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่เข้ารับบริการ ณ คลินิกฟื้นฟูหัวใจ ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 156 ราย โดยจะได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจแบบออกกำลังกายที่บ้าน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และนัดมาปรับโปรแกรมการออกกกำลังกายทุก 3 - 4 เดือน แล้วทบทวนผลการทดสอบการเดิน 6 นาที และผลการประเมินคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก
ผลการศึกษา
       ผู้ป่วยที่ได้รับโปรแกรมครบตามเกณฑ์จำนวน 100 ราย มีค่าเฉลี่ยระยะทางการทดสอบการเดิน 6 นาที ก่อนและหลังเข้าโปรแกรม เพิ่มขึ้นจาก 367.53 ± 91.17 เมตร เป็น 449.07 ± 87.37 เมตร ( p < 0.001) และคะแนนรวมเฉลี่ยของคุณภาพชีวิต ก่อนและหลังเข้าโปรแกรม ดีขึ้นจาก 88.84 ± 13.70 เป็น 96.32 ± 11.61 ( p < 0.001)
สรุป
       โปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจแบบออกกำลังกายที่บ้าน ช่วยเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกายและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจที่มารับบริการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี ณ คลินิกฟื้นฟูหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
คำสำคัญ
       ทดสอบการเดิน 6 นาที คุณภาพชีวิต การฟื้นฟูหัวใจ

PDF (ภาษาไทย)